คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งขึ้นเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นคณะที่ 3 ของมหาวิทยาลัย ต่อจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตนักโบราณคดีไปปฏิบัติงานดูแลรับผิดชอบ การอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานอันเป็นมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ตลอดจนปฏิบัติงานสนามทางโบราณคดีให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีศาสตราจารย์หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์เป็นคณบดีท่านแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 คณะโบราณคดีได้ปรับปรุงการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต โดยขยายขอบเขตการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาอื่นๆ อีกนอกเหนือจากการผลิตนักโบราณคดี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือการเพิ่มสาขาวิชาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เพื่อให้บัณฑิตสามารถใช้ภาษาในชีวิตประจำวันได้อย่างเชี่ยวชาญและนำไปประยุกต์ใช้กับงานต่างๆได้
คณะโบราณคดี ทำการเรียนการสอนตลอด 4 ปีการศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ โดยมีศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นหน่วยงานเสริมเพื่อทำการเรียนการสอนแก่นักศึกษาคณะโบราณคดีสาขาภาษาไทย รวมถึงวิชาโทบาลี สันสกฤต นอกจากนี้คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังถือเป็นที่เดียวในประเทศไทยที่มีการเปิดการเรียนการสอนในภาควิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นวิชาเอกอีกด้วย
คณะโบราณคดีได้ตั้งขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2498 โดยมีจุดมุ่งหมายหลักให้เป็นคณะวิชาที่ผลิตครูอาจารย์และนักโบราณคดี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในกองโบราณคดี ของกรมศิลปากร หรืองานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดี เพื่อเป็นการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อดูแล รักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยให้คงอยู่อย่างยาวนานเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป โดยสาขาโบราณคดีนั้นจะเน้นการขุดค้นโบราณวัตถุเพื่อการศึกษาในเรื่องที่สนใจ ส่วนสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะจะเน้นการศึกษารูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรม วมถึงภาพเขียนในแต่ละยุคสมัย เพื่อเข้าใจในการสื่อความหมาย รวมถึงอิทธิพลที่ส่งผลต่องานศิลปะนั้นๆ และสาขามานุษยวิทยาเป็นการศึกษามนุษย์เพื่อเข้าใจพฤติกรรมต่างๆที่ส่งผลต่อสังคมและคนรอบข้าง
ในแรกเริ่มนั้นยังไม่ได้มีการเปิดสอนทางด้านภาษา ต่อภายหลังมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีความสอดคล้องกับตลาดแรงงานในปัจจุบันมากขึ้น จึงได้มีการเปิดสอนในภาควิชาภาษาตะวันออกและภาษาตะวันตก โดยในภาควิชาภาษาตะวันมีสาขาภาษาไทยเป็นวิชาเอก ส่วนภาควิชาภาษาตะวันตกประกอบด้วยสาขาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนภาษาเพื่อการนำไปใช้ประกอบอาชีพเฉกเช่นเดียวกับคณะมนุษย์ศาสตร์หรือคณะศิลปศาสตร์ ถึงแม้จะมีการเพิ่มคณะวิชาภาษาตะวันออกและภาษาตะวันตกซึ่งเป็นสาขาที่เน้นศึกษาภาษาล้วนๆเข้ามาแต่ก็ยังคงใช้ชื่อคณะว่าคณะโบราณคดีตามเดิมเพื่อเป็นการคงเอกลักษณ์ของคณะที่มีมานานไว้นั่นเอง และเนื่องด้วยการเปิดสอนในสาขาที่ครอบคลุมทั้งด้านสังคมและภาษา ทำให้บัณฑิตสามารถประกอบอาชีพต่างๆได้ เช่น นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักมานุษยวิทยา มัคคุเทศก์ นักเขียน นักเขียนสารคดี พนักงานโรงแรม พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ประชาสัมพันธ์ นักข่าว อาจารย์สอนภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศส ฯลฯ
นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยทำการศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ตลอดหลักสูตรทั้ง 4 ปี โดยมีอาคารที่มักใช้เรียนทั้งหมด 3 อาคารเรียน ส่วนการขุดค้นหรือการศึกษานอกสถานที่จะเป็นกรณีพิเศษของนักศึกษาในวิชาเอกโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ โดย 3 อาคารเรียนที่ใช้มีดังนี้
1. ตึกคณะโบราณคดี วังท่าพระ - เป็นอาคารเรียนหลักของคณะโบราณคดี โครงสร้างอาคารเป็นตึกเรียนสูง 5 ชั้น โดยนักศึกษาทุกวิชาเอกจะทำการศึกษาที่อาคารนี้ หน้าตึกจะมีสนามบาสเกตบอล ใช้เพื่อการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การชนช้าง หรือการเชียร์โต้ ของแต่ละคณะ ในวังท่าพระ รวมถึงใช้เป็นที่จอดรถในกรณีที่ที่จอดรถไม่เพียงพอ
2. หอประชุมและศูนย์เรียนรวม วังท่าพระ - หอประชุมใช้เพื่อสำหรับการเรียนการสอนในวิชาศึกษาทั่วไปหรือวิชาที่มีนักศึกษาลงเป็นจำนวนมาก รองรับนักศึกษาได้ราวๆ 300 คน และอาคารศูนย์รวมนั้นแท้จริงเป็นอาคารของคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ได้มีการแบ่งชั้นใต้ดิน ชั้น 1และชั้น 2 เพื่อเป็นศูนย์เรียนรวมของนักศึกษา เพื่อรองรับความแออัด
3. ศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร - ตั้งอยู่ที่คลองทวีวัฒนา มีจุดประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานเสริมแก่คณะโบราณคดี ภาควิชาภาษาตะวันออก ในด้านการให้ความรู้ทางด้านวิชาการ โดยนักศึกษาเอกวิชาภาษาไทย จะได้ทำการศึกษาที่ศูนย์สันสกฤตศึกษาเป็นครั้งคราว
นอกจาก 3 อาคารนี้แล้ว คณะโบราณคดี ยังมีตึกคณะอีกแห่งอยู่ที่มหาวิทยาลัย ศิลปากร วิทยาลัยเขตเพชรบุรี เนื่องจากในตอนนั้นทางมหาวิทยาลัยมีความเห็นให้ย้ายคณะโบราณคดีมาศึกษาที่วิทยาลัยเขตเพชรบุรี แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนและเห็นชอบจากอาจารย์คณะโบราณคดี รวมถึงนักศึกษาส่วนใหญ่ ทำให้ล้มเลิกไป จึงมีการใช้ตึกคณะโบราณคดีที่วิทยาลัยเขตเพชรบุรีในโอกาสต่างๆแทน ส่วนคณะโบราณคดีก็ให้ทำการเรียนการสอนที่วังท่าพระตามเดิม
เพลงของคณะโบราณคดีนั้นถูกแต่งไว้มากกว่า 20 เพลง เพื่อใช้ในกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เช่น การชนช้างหรือการเข้าค่ายคณะ เป็นต้น แต่เพลงที่ได้รับการยอมรับและถือเป็นเพลงประจำคณะคือเพลง "แววมยุรา" ซึ่งถูกแต่งโดยพิเศษ สังข์สุวรรณ ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี เพลงแววมยุราถูกแต่งขึ้นในช่วงที่เรียกว่าเป็นช่วงวิกฤตของคณะก็ว่าได้ เนื่องจากในช่วงปีพ.ศ. 2513 มีแนวโน้มจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรว่าต้องการให้คณะโบราณคดีถูกยุบไปรวมกับคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งก็ถูกหลายฝ่ายค้านไว้ โดยเฉพาะนักศึกษาคณะโบราณคดีที่ได้ออกมาคัดค้านอย่างชัดเจน จึงเป็นที่มาของเพลงแววมยุราที่ในเพลงมีการแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่คณะโบราณคดีถูกมองข้ามและไม่ได้รับการเหลียวแลหรือเห็นค่า พิเศษ สังข์สุวรรณยังได้เปรียบเปรยดอกแววมยุราซึ่งเป็นดอกของผักตบชวาที่แม้ผักตบชวาจะล่องลอยไปตามน้ำอย่างไร้ค่าแต่เมื่อผลิดอกสีม่วงและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทุกคนก็จะเห็นค่าของมัน เฉกเช่นเดียวกับชาวคณะโบราณคดีที่ในตอนนั้นไม่ได้รับความเห็นค่า แต่หากสามัคคีและช่วยกันผ่านวิกฤตไปด้วยกันก็จะเป็นดอกแววมยุราที่งดงาม และดอกแววมยุรายังมีสีม่วงเฉกเช่นเดียวกับสีคณะโบราณคดีอีกด้วย
นอกจากนี้เพลง สวัสดีศิลปากร ยังเป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกแต่งโดยคณะโบราณคดี ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2538 จึงได้มีการแต่งเพลงนี้เพื่อใช้ในการหาเงินบริจาคให้ผู้ประสบภัย ภายหลังก็ได้มีการใช้เพลงนี้ในทุกกิจกรรมและใช้ร้องกันในทุกคณะของมหาวิทยาลัยศิลปากร
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/คณะโบราณคดี_มหาวิทยาลัยศิลปากร